เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [10. โกสัมพิกขันธกะ] 276. อัฏฐารสวัตถุกถา
ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ทราบว่าพวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีผู้ก่อความบาดหมาง
ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้นกำลัง
เดินทางมาสู่กรุงสาวัตถี หม่อมฉันจะปฏิบัติต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วิสาขา เธอจงถวายทานในภิกษุทั้งสองฝ่าย ครั้นแล้ว
จงฟังธรรมในภิกษุทั้งสองฝ่าย แล้วจงพอใจความเห็น ความถูกใจ ความชอบใจและ
ความเชื่อถือของพวกภิกษุฝ่ายธรรมวาทีเท่านั้น”

เรื่องให้เสนาสนะที่ว่างแก่พวกภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท
[473] ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีได้เดินทางไปโดยลำดับ จนถึงกรุง
สาวัตถี ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ
พุทธเจ้าข้า ทราบว่า พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ
ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้นกำลังเดินทาง มาสู่กรุง
สาวัตถี ข้าพระองค์จะจัดเสนาสนะต่อพวกเธออย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร เธอพึงให้เสนาสนะที่ว่าง”

เรื่องจัดเสนาสนะให้ว่าง
สำหรับพวกภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลถามว่า “ก็ถ้าไม่มีเสนาสนะว่าง จะปฏิบัติอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร ถ้าอย่างนั้น เธอพึงจัดเสนาสนะให้ว่าง
แล้วให้ แต่เราไม่กล่าวว่า ‘พึงห้ามเสนาสนะแก่ภิกษุผู้มีพรรษามากโดยปริยายไร ๆ’
(เพราะ)ผู้ใดห้ามต้องอาบัติทุกกฏ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :367 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [10. โกสัมพิกขันธกะ] 277. โอสารณานุชานนา
เรื่องให้อามิสเท่า ๆ กัน
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลถามว่า “ในอามิส จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร พึงแบ่งอามิสให้ภิกษุเท่า ๆ กันทุกรูป”

277. โอสารณานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตรับเข้าหมู่ซึ่งภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรม
[474] ครั้งนั้น ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมรูปหนึ่งกำลังพิจารณาพระธรรม
วินัยว่า “นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ เราต้องอาบัติ เราไม่ต้องอาบัติ
หามิได้ เราถูกลงอุกเขปนียกรรมแล้ว เราไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรมหามิได้ เราถูก
ลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ชอบธรรม ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะ”
ลำดับนั้น ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้นเข้าไปหาพวกภิกษุผู้ประพฤติตาม
กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมต้องอาบัติ
ผมไม่ต้องอาบัติหามิได้ ผมถูกลงอุกเขปนียกรรมแล้ว ผมไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม
หามิได้ ผมถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ชอบธรรม ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะ
เชิญพวกท่านมารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิดขอรับ”
ลำดับนั้น พวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเหล่านั้นพา
ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวาย
อภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมรูปนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ
นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมต้องอาบัติ ผมไม่ต้องอาบัติหามิได้ ผมถูกลงอุกเขปนีย
กรรมแล้ว ผมไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรมหามิได้ ผมถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรม
ที่ชอบธรรม ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะ เชิญพวกท่านมารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิดขอรับ’
พวกข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :368 }